05 กันยายน 2553

บทวิเคราะห์ เรื่อง การจัดตั้งวิทยุชุมชน | community radio instruction article

บทวิเคราะห์
เรื่อง  การจัดตั้งวิทยุชุมชน

โดย... นางสาววิธญาพร เอกหิรัณยราษฎร์
ตำแหน่ง เจ้าหน้าที่บริหารงาน
สำกัด สำนักวิเทศสัมพันธ์และประชาสัมพันธ์

บทบาทและความสำคัญของสื่อประชาสัมพันธ์ทางวิทยุ
            วิทยุกระจายเสียง เป็นสื่อที่สามารถให้ข่าวสารต่างๆ ในรูปของเสียง จึงมีบทบาทสำคัญต่อประชาชนในประเทศที่กำลังพัฒนา เพราะสามารถเข้าถึงประชาชนในท้องถิ่นทุรกันดารหรือขาดการคมนาคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนผู้ไม่รู้หนังสือก็อาจรับฟังข่าวสารต่างๆ
จากวิทยุกระจายเสียงได้
 อีกทั้งสามารถกระจายเสียงครอบคลุมพื้นที่ได้อย่างกว้างขวาง มีความรวดเร็วในการส่งข่าวสาร ผู้ฟังได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ เป็นสื่อที่มีผลทางจิตวิทยาสูง เพราะน้ำเสียง ลีลาในการพูดหรือเสียงประกอบ สามารถทำให้เกิดจิตนาการได้เป็นอย่างดี  ราคาค่าใช้จ่ายต่ำ เมื่อเปรียบเทียบกับสื่ออื่นๆ ทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้มาก และสามารถเลือกกลุ่มผู้ฟังได้ 
มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อยู่ระหว่างการดำเนินการจัดตั้งวิทยุชุมชนเพื่อการศึกษาในวิทยาเขตพัทลุง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์มหาวิทยาลัยทักษิณ และเป็นการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารสู่ชุมชน ตลอดถึงการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมกับมหาวิทยาลัยสร้างความสัมพันธ์ระหว่างมหาวิทยาลัยกับชุมชน บุคลากรและนิสิตได้มีส่วนร่วมกับชุมชนมากขึ้น
ยึดแนวทางการเสนอข่าวสารของมหาวิทยาลัยและชุมชนเป็นหลัก ภายใต้ความเชื่อ สิ่งแวดล้อม
ภูมิปัญญา วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของท้องถิ่น เปิดโอกาสให้ประชาชนในชุมชนมีส่วนร่วมในการวางแผนจัดรายการ การเข้าไปบริหารจัดการหรือเข้าไปปฏิบัติงานได้ เป็นสื่อมวลชนตามแนวความคิดประชาธิปไตย (
Democratic Media) คือ เพื่อประชาชน โดยประชาชน และของประชาชน
วิทยุชุมชน (Community Radio) คือสถานีวิทยุที่ให้บริการเฉพาะเจาะจงในพื้นที่เขตบริการ ส่งกระจายเสียงในแนวแคบ มีเนื้อหารายการที่สอดคล้องกับรสนิยมและปัญหาของชุมชนนั้นๆ เป็นการสะท้อนความต้องการของชุมชนและเปิดโอกาสให้ตัวแทนชุมชนมีส่วนร่วมในรายการของสถานี
กรอบด้านเทคนิค
1. กำหนดเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงกำลังส่งไม่เกิน
30 วัตต์
2. เสาอากาศสูงจากพื้นดินไม่เกิน 30 เมตร
3. รัศมีการออกอากาศไม่เกิน 15 กิโลเมตร
เนื้อหาและรูปแบบรายการ ลักษณะสำคัญของเนื้อหา รูปแบบรายการของวิทยุชุมชนจะเป็นมาตรวัดว่าวิทยุชุมชนนั้นได้ทำหน้าที่ของวิทยุชุมชนอย่างแท้จริงหรือไม่ คือ เป็นเนื้อหา และรูปแบบที่ตอบสนองความต้องการของชุมชน มีเนื้อหาและรูปแบบที่หลากหลาย ครอบคลุมความสนใจ ความต้องการและผลประโยชน์ของคนทุกกลุ่ม และเพื่อให้สอดรับกับสภาพความเป็นจริงของชุมชนที่มีหลากหลายมิติ เช่น เรื่องการศึกษา  การทำมาหากิน  การอยู่ร่วมกัน การปกครอง ศิลปวัฒนธรรม มรดกด้านภูมิปัญญาของชุมชน ส่งเสริมศีลธรรมศาสนา การพักผ่อนความบันเทิงและการละเล่น ประเพณีพิธีกรรม ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน เนื่องจากการสื่อสารเป็นสิทธิอย่างหนึ่งของชุมชน ดังนั้นเนื้อหาวิธีการนำเสนอ และรูปแบบรายการจึงควรให้สิทธิแก่ชุมชนในการดำเนินการให้สอดคล้องกับประเพณีและวัฒนธรรมหรือรสนิยมของชุมชน ตัวอย่างที่เห็นชัดเจนคือการใช้ภาษาท้องถิ่น
นอกจากนั้นลักษณะของเนื้อหาและรูปแบบของรายการจะต้องส่งเสริมการสื่อสาร
ในแนวนอน คือ การสื่อสารระหว่างประชาชนกับประชาชน
การประเมินผล
การประเมินผลการทำวิทยุชุมชนจำเป็นต้องมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เป้าหมายและแง่มุมที่จะประเมินนั้น ต้องมีหลากหลายมากกว่าการประเมินปริมาณผู้ฟังเท่านั้น โดยที่การประเมินนั้นจะเป็นทั้งการ เหลียวไปข้างหลังเพื่อดูว่าเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้นั้นบรรลุหรือไม่และเป็นทั้งการ แลไปข้างหน้าเพื่อแสวงหาแนวทางพัฒนาวิทยุชุมชนต่อไป
ปัญหา
1.       การจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน ขณะที่ยังไม่มี กสช. และ กทช. เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของกฎหมาย
2.       งบประมาณในการลงทุนสูง
3.       การบริหารจัดการของวิทยุชุมชนมหาวิทยาลัยไม่ชัดเจน
4.       ไม่เป็นการแสวงหารายได้จากวิทยุชุมชน
ข้อเสนอแนะ
1.       มหาวิทยาลัยสามารถทดลองออกอากาศวิทยุชุมชนไปเบื้องต้นก่อน จนกว่าการคัดเลือกและแต่งตั้ง กสช. และ กทช. จะแล้วเสร็จ
2.                ทำโครงการเสนอผู้บริหารมหาวิทยาลัยทักษิณเพื่อขออนุมัติงบประมาณจัดตั้งวิทยุชุมชน
3.       จัดตั้งคณะกรรมการวิทยุชุมชนของมหาวิทยาลัย
4.       มหาวิทยาลัยสามารถระดมทุนสนับสนุนวิทยุชุมชนได้โดยการรับบริจาค