31 สิงหาคม 2553

ตัวอย่างภาพยนตร์ Step Up 3D [Sub-Thai] ตัวอย่างหนัง

สถานการณ์วิทยุชุมชนในปัจจุบัน Community Radio in thailand today

สถานการณ์วิทยุชุมชนในปัจจุบัน
รศ. ดร. พนา  ทองมีอาคม


ปัจจุบัน  วิทยุชุมชน เป็นปัญหาหรือหัวข้อสนทนาที่น่าสนใจของสังคมหัวข้อหนึ่ง  ทุกคนที่เปิดวิทยุฟังในวันนี้  ต่างเลี่ยงไม่พ้นคลื่นวิทยุชุมชน  โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ๆ เช่น กทม. หรือเชียงใหม่  สิ่งที่ทำให้เรารู้ได้ว่ามีวิทยุชุมชนอยู่ ก็คือการปรากฏของคลื่นแทรกและบ่อยครั้งการจัดรายการที่ดูแปลกและไม่ธรรมดา
หลายคนที่เคยฟังวิทยุชุมชนยอมรับว่าวิทยุชุมชนเป็นคลื่นทางเลือกที่ช่วยให้ผู้ฟังได้รับความหลากหลาย  และสามารถรับรู้เรื่องราวท้องถิ่นที่ใกล้ตัว  แต่ขณะเดียวกัน  ผู้ฟังจำนวนไม่น้อย  ก็ไม่พอใจกับการที่คลื่นหลักที่ต้องการฟังถูกแทรกจากรายการของวิทยุชุมชน หรือจากการได้ยินการออกอากาศด้วยรายการที่ระคายความรู้สึกของตน
เพื่อให้ได้ภาพของวิทยุชุมชน  จำเป็นที่เราจะต้องดูที่มาและที่ไปของสื่อวิทยุชนิดนี้ในสังคมของเรา
รัฐธรรมนูญและกติกาการจัดสรรคลื่นอย่างใหม่
หลังการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540  สังคมไทยมีความตื่นตัวในความเป็นประชาธิปไตยสูง  จากภาพอดีตของการปฏิวัติและการต่อสู้เมื่อ 17 พ.ค. ที่เพิ่งจะผ่านพ้นไปไม่นาน  คนจำนวนมากจึงชื่นชมกับรัฐธรรมนูญใหม่ ที่ถือว่ามีความเป็นประชาธิปไตยสูงที่สุดฉบับหนึ่งเท่าที่เคยมีมา
ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้  มีบทบัญญัติในมาตรา 40 ที่ว่าด้วยคลื่นความถี่วิทยุและการกำกับดูแลกิจการวิทยุโทรทัศน์และโทรคมนาคมที่มีความว่า
มาตรา ๔๐  คลื่นความถี่ที่ใช้ในการส่งวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์
และวิทยุโทรคมนาคม เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเพื่อประโยชน์สาธารณะ
ให้มีองค์กรของรัฐที่เป็นอิสระทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ตามวรรคหนึ่ง
และกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการ
โทรคมนาคม  ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

การดำเนินการตามวรรคสองต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน
ในระดับชาติและระดับท้องถิ่น ทั้งในด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความมั่นคงของรัฐ และประโยชน์สาธารณะอื่น รวมทั้งการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม
ผลจากมาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญนี้ เท่ากับการบอกให้ประเทศไทยจัดการปฏิรูประบบการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุ และให้มีองค์กรกำกับการใช้คลื่นใหม่ทั้งหมด
ผลในส่วนของประชาชน  ก็เป็นที่แน่นอนว่าประชาชนเกิดความตื่นตัว ความหวังที่จะได้รับการจัดสรรหรือ ได้โอกาสในการจัดทำวิทยุของตนเอง

การเกิดของวิทยุชุมชน
ในช่วงสองสามปีหลังจากการพระราชทานรัฐธรรมนูญใหม่  กระแสความตื่นตัวในเรื่องของวิทยุชุมชนขององค์กรพัฒนาเอกชน หรือที่เรียกกันว่า NGO (non-governmental organizations) ได้เริ่มก่อตัวขึ้น  มีการจัดสัมมนาทางวิชาการร่วมกันระหว่างคณาจารย์สายนิเทศศาสตร์และ องค์กรพัฒนาเอกชน  แม้แต่องค์กรต่างประเทศและองค์กรรัฐเช่นกรมประชาสัมพันธ์ ก็ได้ร่วมมือด้วยในบางโอกาสเช่นกัน
วิทยุชุมชนเกิดขึ้นในช่วงปี 2542-2544 จากการรวมตัวของกลุ่มองค์กรต่างๆ ด้วยมุ่งมาดให้ชุมชนแต่ละแห่งมีพื้นที่ในการทำสื่อของตัวเอง ……….. วิทยุชุมชนเริ่มเปิดตัวออกมาหลังกระบวนการเรียนรู้ที่ดำเนินการโดยองค์กรภาคประชาชนทั้งสิ้น[1]
การตราพระราชบัญญัติพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.. 2543  ได้สร้างความหวังให้แก่ประชาชน ว่าจะมีองค์กรอิสระคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) เข้ามากำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ในเร็ววัน  โดยเฉพาะในมาตรา 26 ของพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้สร้างความตื่นตัวในหมู่ผู้สนใจวิทยุชุมชน โดยกำหนดรายละเอียดของการจัดสรรคลื่นว่า กสช. จะต้องจัดคลื่นวิทยุให้ประชาชนเป็นจำนวนร้อยละ 20 ดังที่บัญญัติไว้ว่า
 “…การจัดทำแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และการอนุญาต
ให้ประกอบกิจการดังกล่าว ต้องคำนึงถึงสัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างผู้ประกอบการภาครัฐ ภาค
เอกชน และภาคประชาชน โดยจะต้องจัดให้ภาคประชาชนได้ใช้คลื่นความถี่ไม่น้อยกว่าร้อยละ
ยี่สิบ ในกรณีที่ภาคประชาชนยังไม่มีความพร้อมให้ กสช. ให้การสนับสนุน เพื่อให้ภาคประชาชนมีโอกาสใช้คลื่นความถี่ในสัดส่วนตามที่กำหนด
จนล่วงเข้าในปี  2544 ปลายปี  เริ่มเกิดวิทยุชุมชนขึ้นในประเทศไทย  และตัวอย่างวิทยุชุมชนต้นแบบนี้  เป็นที่สนใจในวงกว้างและต่อมาได้ขยายตัวออกไปโดยการเรียนรู้กันเองของชุมชน
การเกิดขึ้นและขยายตัวของวิทยุชุมชนนี้  แน่นอนว่ามีปัญหาเรื่องข้อกฎหมายตามมา   ในขณะที่ผู้ริเริ่มจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนอ้างสิทธิตามรัฐธรรมนูญในเรื่องของสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นตามมาตรา 39 และอ้างมาตรา 40 ในเรื่องของคลื่นความถี่  แต่ในทางปฏิบัติ การจะใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญต้องมีกฎหมายรองรับ และกฎหมายที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ยังมีผลบังคับอยู่จนกว่าจะมีการแก้ไขหรือออกกฎหมายใหม่คือ พระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.. ๒๔๙๘ 
ในพระราชบัญญัติดังกล่าว ระบุใน มาตรา 5 ที่แก้ไขโดยพระราชบัญญัติวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.. ๒๕๓๐ ความว่า
มาตรา ๕  ห้ามมิให้ผู้ใดส่งวิทยุกระจายเสียงหรือส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือแก่ชุมชน เว้นแต่จะได้รับใบอนุญาตให้ดำเนินบริการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือบริการส่งวิทยุโทรทัศน์จากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต
การส่งวิทยุกระจายเสียงหรือการส่งวิทยุโทรทัศน์ ที่กระทำโดยการทำให้คลื่นแฮรตเซียนแพร่กระจายไปในบรรยากาศ ถ้าได้ทำการส่งโดยมีรายการแน่นอนสม่ำเสมอหรือเป็นประจำ และบุคคลอื่นสามารถรับการส่งวิทยุนั้นได้โดยใช้เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงหรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ที่ผู้ส่งจัดหาให้หรือที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป ให้ถือว่าการส่งวิทยุนั้นเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือการส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือแก่ชุมชนตามความในวรรคหนึ่ง
การส่งวิทยุกระจายเสียงหรือการส่งวิทยุโทรทัศน์ ที่กระทำโดยการทำให้คลื่นแฮรตเซียนผ่านไปทางสายหรือสื่อตัวนำไฟฟ้า ถ้าได้ทำการส่งโดยมีรายการแน่นอนสม่ำเสมอหรือเป็นประจำ และบุคคลอื่นสามารถรับการส่งวิทยุนั้นได้โดยใช้เครื่องรับวิทยุกระจายเสียงหรือเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์ที่ผู้ส่งจัดหาให้หรือที่มีจำหน่ายโดยทั่วไป ไม่ว่าเครื่องรับนั้นจะมีความจำเป็นต้องดัดแปลงหรือติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม และถ้าการส่งวิทยุนั้นได้กระทำตามลักษณะหรือขอบเขตตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ให้ถือว่าการส่งวิทยุนั้นเป็นการส่งวิทยุกระจายเสียงหรือการส่งวิทยุโทรทัศน์เพื่อให้บริการแก่สาธารณะหรือแก่ชุมชนตามความในวรรคหนึ่ง
กฎกระทรวงที่ออกตามความในวรรคสาม ให้ใช้บังคับในวันที่ระบุในกฎกระทรวง แต่จะใช้บังคับก่อนเก้าสิบวันนับแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษาไม่ได้ กฎกระทรวงที่ออกมาเปลี่ยนแปลงลักษณะและขอบเขตของการส่งวิทยุตามที่ได้มีกฎกระทรวงกำหนดไว้แล้ว ย่อมไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิของผู้รับใบอนุญาตอยู่แล้วก่อนวันที่กฎกระทรวงดังกล่าวใช้บังคับ และให้ผู้รับใบอนุญาตดังกล่าวดำเนินการต่อไปได้จนกว่าอายุใบอนุญาตนั้นจะสิ้นสุดลง
จากความในกฎหมายดังกล่าวข้างต้น  การจัดตั้งวิทยุชุมชนของประชาชนจึงถือว่าเป็นการผิดกฎหมายแน่นอน  และเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ดำเนินการในกรณีที่มีการฝ่าฝืน  ก็ได้แก่กรมประชาสัมพันธ์
การผ่อนผัน: จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน
การเข้าบังคับใช้กฎหมายของกรมประชาสัมพันธ์ เมื่อ 12 ก.พ. 2545 โดยคำสั่งของอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ให้วิทยุชุมชนในจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดสิงห์บุรี ยุติการออกอากาศ  โดยเหตุที่ว่าเป็นการดำเนินงานที่ไม่ได้รับอนุญาตจากทางการ    ได้ก่อให้เกิดเสียงทักท้วงจากแวดวงผู้เกี่ยวข้องกับวิทยุชุมชน และผู้จัดตั้งวิทยุชุมชนทั่วไป
ที่สุดแล้วคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ร่วมกับองค์กรภาคเอกชนต่างๆ หาแนวทางที่จะแก้ไขปัญหาดังกล่าว  และที่สุดเรื่องก็ได้เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี โดยในการประชุมวันที่ 16 ก.ค. 2545 คณะรัฐมนตรีได้มอบหมายให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดหลักเกณฑ์ชั่วคราว เพื่อดูแลการใช้คลื่นวิทยุชุมชน
หลังจากนั้น การดำเนินการวิทยุชุมชน ได้ดำเนินต่อไปในลักษณะของการผ่อนผัน  แต่ก็ไม่มีความแน่นอนของวิธีการ  มีการปรับเปลี่ยนแนวคิด ทั้งในเรื่องของการใช้คลื่นของกรมประชาสัมพันธ์ และการให้องค์กรท้องถิ่นของรัฐคือ อบต. เข้ามาจัดตั้ง
ต่อมาในวันที่ 24 มิถุนายน 2546 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างมาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราวจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุ ชุมชนที่คณะทำงานฯ ได้ตรวจพิจารณาแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1.   เจตนารมณ์ของการเรียนรู้วิทยุชุมชน
2.   ความหมายคำว่า ชุมชนและ จุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน
3.   ลักษณะสำคัญของวิทยุชุมชน
4.   หลักการ ขั้นตอน กระบวนการเตรียมความพร้อมชุมชน ได้แก่ การเตรียมการเรียนรู้เรื่อง การบริหารจัดการ การผลิตรายการ การทดลองออกอากาศ การพัฒนาความรู้ และการมีส่วนร่วมอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น
5.   สำหรับโครงสร้างหลักในการบริหารจัดการจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการเพื่อกำหนดนโยบายและดูแลด้านการดำเนินงาน และคณะกรรมการปฏิบัติการในด้านบริหารจัดการและด้านรายการ
6.   ขั้นตอนการแจ้งเพื่อขอดำเนินการจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชน โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการดำเนินการเพื่อการเรียนรู้วิทยุชุมชนที่คณะรัฐมนตรีแต่งตั้ง ทำหน้าที่รับรอง ส่งเสริมพัฒนาจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
7.   สำหรับขั้นตอนการแจ้งเพื่อขอดำเนินการแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ
7.1 กรณีจุดปฏิบัติการเรียนรู้ที่ดำเนินการทดลองออกอากาศแล้วให้สามารถดำเนินการต่อไปได้ โดยให้ยื่นเอกสารข้อมูลต่าง ๆ ต่อคณะกรรมการดำเนินการฯ ประกอบการขอรับรองและให้มีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องส่งภายใน 60 วัน นับจากวันที่มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ
7.2 ในส่วนของกลุ่มผู้ดำเนินการที่จะขอตั้งจุดปฏิบัติการเรียนรู้วิทยุชุมชนใหม่ ต้องผ่านกระบวนการเรียนรู้และมีโครงการในการบริหารจัดการจุดปฏิบัติการวิทยุชุมชนสมบูรณ์ โดยก่อนทดลองออกอากาศให้ทำการยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการดำเนินการฯ เพื่อให้การรับรองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสาร
7.3 ให้คณะกรรมการดำเนินการฯ พิจารณาคำขอรับรองภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับเอกสาร และอาจขยายเวลาต่อไปได้อีกไม่เกิน 30 วัน และในกรณีที่มีการร้องเรียนว่า การทดลองออกอากาศก่อให้เกิดการรบกวน วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศฯ และกิจการโทรคมนาคมใด หากเป็นจริงตามข้อร้องเรียน ให้คณะกรรมการดำเนินการฯ แจ้งให้หยุดออกอากาศชั่วคราว จนกว่าจะแก้ไขแล้วเสร็จ
8.   ลักษณะพึงประสงค์ทางเทคนิคและทางด้านรายการนั้น เครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงมีกำลังส่งไม่เกิน 30 วัตต์ ในระบบ F.M. เสาอากาศสูงไม่เกิน 30 เมตร รัศมีไม่เกิน 15 กิโลเมตร
9.   หลักเกณฑ์นี้ เป็นหลักเกณฑ์ชั่วคราวต้องยุติการดำเนินการเมื่อมี กสช. และ กทช. แล้ว และยินยอมให้กสช. และ กทช. เป็นผู้กำหนดต่อไป
จะเห็นว่าการมีมติของคณะรัฐมนตรีครั้งนี้  เป็นการตัดสินใจที่น่าจะอยู่บนพื้นฐานของเหตุผลทางการเมือง  เนื่องจากวิทยุชุมชนได้เริ่มเกิดขึ้นมาแล้ว  และไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการหรือสื่อมวลชน  ต่างก็มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้มีวิทยุชุมชน 
กระแสสนับสนุนวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้น  ส่งผลให้การจัดการเด็ดขาดตามกฎหมาย จะต้องอาศัยความห้าวหาญในการบริหารอย่างมาก  และอาจมีผลกระทบทางการเมือง  ซึ่งเป็นสิ่งที่กระทำได้ยาก  การตัดสินใจที่มิได้อยู่บนพื้นฐานกฎหมายนี้ จะเห็นได้จาก ข้อสังเกตของสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ได้มีข้อสังเกตเพื่อประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีในเรื่องของวิทยุชุมชน ดังนี้
1.  การจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชน ขณะที่ยังไม่มี กสช. และ กทช. เป็นการกระทำที่ไม่สอดคล้องกับหลักการของกฎหมาย เนื่องจาก
1.1 ในส่วนของเครื่องวิทยุคมนาคมที่ใช้ในการดำเนินการของวิทยุชุมชนจะต้องเข้าหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ด้วย
1.2  มาตรการและหลักเกณฑ์ชั่วคราวที่เป็นการผ่อนปรนจะดำเนินการได้ควรมีกฎหมายรองรับ เนื่องจากมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ได้มีข้อบัญญัติโดยสรุปว่า ในระหว่างการคัดเลือกและแต่งตั้ง กสช. หรือ กทช. แล้วแต่กรณียังไม่แล้วเสร็จ จะพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรืออนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มเติมไม่ได้ ดังนั้น จึงเห็นควรเพิ่มเติมข้อความในท้ายบทบัญญัติดังกล่าว เพื่อให้เป็นข้อยกเว้นสำหรับกรณีที่ต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับวิทยุชุมชน ให้สามารถดำเนินการได้โดยมีเงื่อนไขตามที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
อย่างไรก็ดี เนื่องจากกรณีดังกล่าวเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย และอาจมีผลกระทบกับข้อสัญญาการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงหรือวิทยุ โทรทัศน์ทั้งที่กำลังดำเนินบริการและจะขออนุญาตดำเนินบริการต่อไปในอนาคตได้ จึงเห็นสมควรมอบให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาหรือสำนักงานอัยการสูงสุดรับไปพิจารณาดำเนินการแล้วแต่กรณีต่อไป
2.  ขณะที่มาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 ไม่เปิดช่องให้ทางราชการพิจารณาจัดสรรคลื่นความถี่ ออกใบอนุญาตประกอบกิจการ หรืออนุญาตให้ประกอบกิจการเพิ่มเติมได้ สมควรให้ภาคประชาชนสามารถเข้าไปจัดรายการในสถานีวิทยุกระจายเสียงที่มีอยู่แล้วทั่วประเทศได้ โดยอาจจะมีการผ่อนปรนในเรื่องของระเบียบข้อบังคับที่เป็นอุปสรรคต่อการดำเนินการของประชาชน เช่น ในเรื่องของใบอนุญาตผู้ประกาศตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ไปพลางก่อน จนกว่าการคัดเลือกและแต่งตั้ง กสช. และ กทช. จะแล้วเสร็จ
3.  การใช้คลื่นความถี่ของทางราชการที่มีอยู่แล้ว โดยมีกรอบการดำเนินการ ดังนี้
3.1 จัดตั้งคณะกรรมการ ประกอบด้วย ผู้แทนจากสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงกลาโหม สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา กรมไปรษณีย์โทรเลข องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย นักวิชาการสื่อสารมวลชน เป็นกรรมการ และผู้แทนจากกรมประชาสัมพันธ์เป็นกรรมการและเลขานุการ
3.2 กรอบในการบริหารโครงการและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ
1)
กำหนดแผนการดำเนินการวิทยุชุมชน
2)
การดำเนินการวิทยุชุมชนสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญและบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
3)
คลื่นความถี่ที่นำมาใช้ดำเนินการ ใช้คลื่นความถี่เดิม แต่นำมาทำซ้ำกับพื้นที่ใหม่
4)
กำหนดคุณสมบัติของผู้ดำเนินการวิทยุชุมชนในพื้นที่ 24
การแข่งขันจัดตั้งและภาวะไร้กฎหมายบังคับ
ปรากฏการของความอ่อนแอในการบังคับใช้กฎหมาย  และความกดดันทางการเมืองในช่วงปี 2546 2547   ยังส่งผลให้เกิดความสับสนในการพัฒนาของวิทยุชุมชน   ดังจะเห็นว่าแม้เป็นที่ชัดเจน   ว่าการยอมให้มีการใช้คลื่นวิทยุใหม่ไม่สามารถทำได้   แต่ก็มิได้มีการบังคับจับกุมแต่อย่างใดจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง
การยอมยกเว้นของรัฐบาลที่ให้มีการกำหนดจุดปฏิบัติการเรียนรู้ฯ โดยวิทยุชุมชนที่ทำอยู่แล้วให้ทำต่อไปได้โดยต้องอยู่ในเกณฑ์  และผู้ที่จะเปิดใหม่ต้องผ่านการเรียนรู้และเข้าระบบนั้น  ในความเป็นจริง  ปรากฏว่าสถานีวิทยุชุมชนที่มีอยู่นั้น  กำหนดคลื่นความถี่ขึ้นใช้เองเป็นคลื่นใหม่ตามอำเภอใจ  โดยกำหนดซอยคลื่นความถี่เป็นช่วง  .25 บ้าง  .70 บ้าง  แทรกอยู่ระหว่างคลื่นความถี่ปกติที่มีช่วงระหว่างคลื่นเป็น .0 และ .5
การเกิดสถานีใหม่นี้ ก็เกิดขึ้นเองเมื่อคิดว่าตัวเองพร้อม โดยไม่ได้สนใจที่จะเข้าสู่ระบบการเรียนรู้ ฝ่ายเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เตรียมความพร้อมที่จะให้ความรู้  และส่วนใหญ่ก็มิได้มีการจดรับรองจากคณะกรรมการว่าเป็นจุดปฏิบัติการเรียนรู้แต่อย่างไร
สี่งสำคัญยิ่งสำหรับการดำเนินการด้านวิทยุ  เกณฑ์ทางเทคนิคที่กำหนดลักษณะพึงประสงค์ ในข้อ 8  ที่กำหนดให้มีกำลังส่งไม่เกิน 30 วัต  มีเสาอากาศสูงไม่เกิน 30 เมตร และมีรัศมีการออกอากาศไม่เกิน 15 กิโลเมตร  ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติตามเช่นกัน
ปัญหาที่เกิดในปัจจุบัน
การที่ขาดองค์กรอิสระ กสช. ผู้มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับกิจการวิทยุเนื่องจากยังไม่สามารถจัดตั้งให้สำเร็จได้นี้  ประกอบกับการที่องค์กรเดิมที่มีหน้าที่มิได้ปฏิบัติหน้าที่ไปตามที่ควรจะเป็น  ได้ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมาเป็นอย่างมาก  ปัญหาสำคัญๆ ที่พอจะระบุได้มีดังนี้
1.  เกิดคลื่นแทรกสถานีหลัก  หากติดตามข่าวสารเรื่องวิทยุชุมชนในวันนี้  จะพบว่าประชาชนมีข้อร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับคุณภาพการรับฟัง  ว่าสถานีหลักที่เคยรับฟังชัดเจน  ได้ถูกคลื่นแทรกจากสถานีวิทยุชุมชน
2.  เกิดการรบกวนวิทยุการบิน  วิทยุชุมชน อาจก่อให้เกิดอันตรายจากการรบกวนวิทยุการบิน  และเรื่องนี้ ได้นำไปสู่การเตือนที่มีผลให้สถานีวิทยุบางสถานี ต้องปิดตัวเอง (ชั่วคราว)
3.  เกิดการถูกหลอกลวง  กระแสการเกิดวิทยุชุมชน  ได้ทำให้มีผู้ฉวยโอกาสไปชักชวนให้ชุมชนต่างๆ จัดตั้งวิทยุชุมชนของตนขึ้น  โดยอ้างว่าสามารถทำได้  และถ้าไม่ทำ ต่อไปถ้ามี กสช. แล้ว  ก็จะทำไม่ได้อีกต่อไป  และผู้หลอกลวง ก็ถือโอกาสชักชวนให้ซื้อเครื่องส่ง  เสาอากาศ และจัดทำห้องส่งให้  นอกจากการหลอกขายของแล้ว  เครื่องส่งหรืออุปกรณ์ต่างๆ ที่ชุมชนซื้อไปนี้  ยังเป็นสินค้าไม่ได้คุณภาพ  สัญญาณมีการรั่วไหล  และไม่เป็นไปตามข้อกำหนด
4.  กำเนิดวิทยุชุมชนแอบแฝง  วิทยุชุมชนในยุคแรก เป็นวิทยุชุมชนที่ทำงานโดยชุมชนจริง คือทำงานแบบอาสาสมัคร  แต่ต่อมา ได้มีการแอบแฝงทำธุรกิจเกิดขึ้น  โดยเฉพาะเมื่อกรมประชาสัมพันธ์ได้พยายามเข้ามาจัดระเบียบ และอนุญาตให้มีการโฆษณาได้ 6 นาทีต่อชั่วโมง ได้เกิดผู้แอบแฝงเข้ามาทำวิทยุชุมชนเป็นจำนวนมาก
5.  การร้องเรียนเรื่องการแข่งขันที่เป็นธรรม  การเกิดขึ้นของวิทยุชุมชนที่แอบแฝง  ได้ส่งผลต่อผู้ประกอบการวิทยุที่ถูกต้อง  ผู้ประกอบการตามกฎหมายได้ร้องเรียนว่า การจัดทำวิทยุที่ถูกกฎหมาย  พวกตนต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสัมปทาน  ต้องเสียภาษีถูกกฎหมาย  แต่หนสุดท้าย ไม่ได้รับความคุ้มครองจากรัฐ  ต้องถูกตัดราคาค่าโฆษณาจากวิทยุชุมชนที่ไม่มีต้นทุนสัมปทาน ไม่มีค่าลิขสิทธิ์ และไม่เสียภาษี  ซ้ำรายการที่ออกอย่างถูกกฎหมาย  ต้องถูกรบกวนโดยคลื่นแทรก
6.  คุณภาพรายการ  มีผู้ร้องเรียนเรื่องคุณภาพรายการที่ออกอากาศ  เมื่อวิทยุชุมชนมีจำนวนมาก เกิดการแทรกคลื่นกันเอง  เกิดการแย่งชิงโฆษณาและแย่งชิงผู้ฟัง  ที่สุดแล้ว  วิทยุชุมชนก็มีการทะเลาะกันเองออกอากาศ การจัดรายการในลักษณะกึ่งสมัครเล่น ทำให้เกิดรายการคุณภาพต่ำ รสนิยมเลว  การใช้ภาษาที่ไม่ควรออกอากาศ
ความเสี่ยงและอนาคต
จากปัญหาที่กล่าวแล้วข้างต้น  ไม่ได้หมายความว่าวิทยุชุมชนเป็นของที่ผิดกฎหมายหรือไม่ดีเสียทั้งหมด  เพียงแต่บทความนี้  เป็นบทความสั้นๆ ที่ประสงค์จะให้ภาพถึงปัญหาที่เกิดจากวิทยุชุมชนในวันนี้เท่านั้น
โดยความเป็นจริง วิทยุชุมชนยังมีประโยชน์และสิ่งดีๆ อยู่เป็นจำนวนมาก  โดยเฉพาะวิทยุชุมชนที่ยึดมั่นในแนวคิดของวิทยุชุมชนที่แท้จริง
วิทยุชุมชนจำนวนมาก ออกอากาศในเรื่องของชุมชนท้องถิ่นที่เป็นเรื่องของชุมชนอย่างแท้จริง  บทบาทในการให้ความรู้  รักษาวัฒนธรรมชุมชนท้องถิ่น บทบาทในการ่วมแก้ปัญหาของชุมชน  การร่วมกับชุมชนพัฒนาความเป็นอยู่ และแม้กระทั่งการร้องทุกข์ เตือนภัย  ก็เป็นเรื่องเป็นประโยชน์ทั้งสิ้น
อย่างไรก็ตาม  วิทยุชุมชนก็ยังต้องรอวันเวลา ที่กฎหมายเป็นกฎหมาย และมีการบังคับใช้อย่างเป็นธรรมโดยองค์กรที่เข้าใจในประโยชน์และศักยภาพของสื่อนี้ 
ต่อไปในอนาคต  วิทยุชุมชนที่แอบแฝงหาประโยชน์  ควรได้รับการแก้ไขให้ถูกต้อง  ซึ่งก็ไม่น่าจะยากเกิน  หากบทบัญญัติเรื่องวิทยุเอกชนเชิงพาณิชย์มีโอกาสเกิดขึ้น
การจัดหางบอุดหนุนในรูปของกองทุนจากองค์กรอิสระ  ก็อาจทุเลาปัญหาเรื่องการแสวงรายได้มาจุนเจือตนเอง  เป็นการลดความเย้ายวนใจเรื่องโฆษณา และลดต่อไปในเรื่องของการแอบแฝง
            การจัดให้มีแหล่งความรู้และการฝึกอบรม ไม่ว่าจะภาคประชาชนด้วยกันเอง  จากสถาบันการศึกษา  หรือจากภาคสาธารณะประโยชน์หรือรัฐ  ก็เป็นแนวทางที่ดีในการยกระดับคุณภาพรายการและการจัดการของวิทยุชุมชน
ในอีกมุมหนึ่ง  การบังคับใช้กฎหมาย  ก็จะตะล่อมให้วิทยุชุมชนที่ประสงค์จะดำเนินการในลักษณะอื่น  ได้มีโอกาสทำได้อย่างถูกต้อง และมีเวลาที่จะต้องปรับตัวรับกับโอกาสและกฎระเบียบที่ชัดเจน
สรุป
วิทยุชุมชนวันนี้  มีกำเนิดมาจากความตื่นตัวและความสนใจของประชาชน ในขณะที่ภาครัฐ กำลังอยู่ในช่วงของการส่งผ่านอำนาจระหว่างองค์กรเดิม กับองค์กรใหม่ในรูปองค์กรอิสระ  เป็นโชคไม่ดีอย่างยิ่ง  ที่การจัดตั้งองค์กรเนื่องมาจากรัฐธรรมนูญนี้ เกิดความล่าช้าและไม่สามารถจัดตั้งให้สำเร็จได้ในเวลาอันสมควร  ภาวะของความต้องการของประชาชนและการจัดระเบียบของเจ้าหน้าที่  จึงเกิดความไม่สอดคล้องกันขึ้น  ผลก็คือปัญหานานาประการดังได้กล่าวไปแล้ว  อย่างไรก็ตาม  ภาพปัญหาที่เห็น อาจกล่าวได้ว่าเป็นเพียงภาพชั่วคราว  เพราะหากวิเคราะห์แล้ว  ปัญหาที่เป็นอยู่ล้วนเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ทั้งสิ้น  จึงเป็นที่มั่นใจได้ว่าในอนาคต  ประชาชนโดยเฉพาะชุมชนต่างๆ  น่าจะได้รับประโยชน์จากสื่อชนิดนี้ได้อย่างเต็มที่  ตามที่ควรจะเป็น

____________________________


เกี่ยวกับผู้เขียน


ชื่อ สกุล:                     ดร. พนา ทองมีอาคม
ตำแหน่งงาน:                 รองศาสตราจารย์ประจำคณะนิเทศศาสตร์
ประวัติการศึกษา:            2514 - นิเทศศาสตร์บัณฑิต (สื่อสารมวลชน-เกียรตินิยม, จุฬาฯ)
                                    2519 - MA in Advertising (Michigan State University)
                                    2528 - ปริญญาเอก (The University of Texas at Austin)
สถานที่ทำงาน:               ภาควิชาการประชาสัมพันธ์  คณะนิเทศศาสตร์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
โทร. 0-2218-2163

ที่อยู่                              88 หมู่ 5 สุขสวัสดิ์ 30

                                    แขวงบางปะกอก ราษฎรบูรณะ
กทม. 10140
e-mail:                          tpana@chula.ac.th



[1] ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 678 วันที่ 30 พ.ค. 5 มิ.ย. 2548