27 กรกฎาคม 2552

“ใบอนุญาตวิทยุชุมชน” คุ้มครองสิทธิประชาชนจริงหรือ?

“ใบอนุญาตวิทยุชุมชน” คุ้มครองสิทธิประชาชนจริงหรือ?

http://innold.blogspot.com/2009/07/blog-post_14.html

เมื่อ 12 ก.ค.52 คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) ร่วมกับสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ จัดการเสวนา “ใบอนุญาตวิทยุชุมชน คุ้มครองสิทธิประชาชน จริงหรือ?” ณ ห้องประชุมสุจิตรา อาคารมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม กรุงเทพฯ โดยมีผู้ประกอบการวิทยุชุมชนจากทั่วประเทศเข้าร่วมรับฟังและแลกเปลี่ยนความ คิดเห็นกว่า 40 คน

สิทธิการสื่อสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เหมือนการศึกษา การรักษาพยาบาล

รศ. ดร.อุบลรัตน์ ศิริยุวศักดิ์ ประธาน คปส. กล่าวถึงสิทธิการสื่อสารของภาคประชาชนว่า เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจากรัฐธรรมนูญปี 2540 ถึง 2550 จนมาในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่มีกฎหมายการประกอบกิจการ และคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์เพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องต่างๆ โดยเฉพาะวิทยุชุมชนและกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายมากขึ้น แม้วันนี้เรื่องสิทธิการสื่อสารมีมากขึ้น แต่ก็ยังถือเป็นสิทธิขั้นต่ำ อีกทั้งวิทยุชุมชนการจะสื่อสาร หรือแสดงออกทางความคิดได้จริงก็ต่อเมื่อมีคนฟัง ซึ่งในส่วนนี้ส่งผลถึงระยะเวลาการออกอากาศตามความเหมาะสม ดังนั้น การคุ้มครองสิทธิจึงไม่ได้คุ้มครองเฉพาะสิทธิคนที่เข้ามาดำเนินการสถานีใน ฐานะผู้แทนชุมชน แต่โดยหลักต้องคุ้มครองสิทธิชุมชน พลเมืองในฐานะเจ้าของสิทธิและผู้ฟัง โดยต้องเชิญชวนให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในรูปแบบต่างๆ นี่เป็นสิทธิพื้นฐานของพลเมือง

อีกประการหนึ่งคือ การเป็นทางเลือกการสื่อสารของชุมชน ซึ่งในอนาคตอาจมีวิทยุธุรกิจท้องถิ่นขนาดเล็ก วิทยุของสถาบันการศึกษา นี่คือทางเลือก คือโอกาสได้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่หลากหลายมากขึ้นของประชาชน เพื่อคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชน เป็นอีกมุมหนึ่งที่อยากให้คณะทำงาน จนถึงผู้ดำเนินการวิทยุชุมชนคำนึงถึง

รศ. ดร.อุบลรัตน์ กล่าวด้วยว่า ในอดีตมีคำถามว่าชุมชนเป็นใคร ทำไมถึงมีสิทธิมาใช้คลื่นความถี่ วันนี้เห็นตัวตนชัดเจน และอยากให้มองว่าสิทธิการสื่อสารเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน เหมือนดังเช่นการศึกษา การรักษาพยาบาล ในวันนี้ ประชาชนยังต้องสู้เพื่อให้ได้ใช้สิทธิที่จะสื่อสาร ซึ่งต้องทำงานเข้มข้นเพื่อให้เกิดการยอมรับ ในสิทธิซึ่งรัฐจะมาล่วงละเมิดไม่ได้ และในทางตรงกันข้าม รัฐมีหน้าที่ต้องสนับสนุนให้เกิดและส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้ สิทธิ

สิทธิการสื่อสารเป็นสิทธิตลอดชีวิตเหมือนสิทธิการศึกษาและการ รักษาพยาบาล และเป็นสิทธิที่ประชาชนสามารถเข้าถึงได้ในรูปแบบที่หลากหลาย ซึ่งที่ผ่านมา ประชาชนรู้จักแต่สื่อของรัฐมากว่า 70 ปี และในฐานะผู้ฟังเพียงอย่างเดียว จึงเป็นหน้าที่ขององค์กรที่รับผิดชอบในอนาคตต้องทำให้ที่สร้างความเข้าใจ สร้างรูปแบบที่หลากหลาย สร้างช่องทางเข้าถึง และสร้างบริการเฉพาะที่ตอบสนองความต้องการของกลุ่มคนที่หลากหลายในสังคม ในขณะเดียวกัน การสื่อสารเป็นกิจการบริการสาธารณะ ซึ่งถึงแม้จะเป็นผู้ประกอบการภาคเอกชนก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคม เหมือนกับเรื่องการศึกษา ที่โรงเรียนเอกชนก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ต่างจากโรงเรียนของรัฐ

“ความ หลากหลาย ความเชื่อ ความชอบ และความแตกต่างนั้นคือประชาธิปไตยนี่เอง” รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวถึงสิทธิทางการสื่อสารอันเป็นส่วนหนึ่งของระบอบประชาธิปไตย

ใน ส่วนการกำกับดูแล วิทยุชุมชน รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวว่า ไม่อยากให้เป็นเรื่องของนิติรัฐที่ขาดเจตนารมณ์ เน้นเรื่องการควบคุม เข้ามากำหนดว่าพูดเรื่องอะไรได้บ้าง เพราะลึกๆ รัฐบาลหวาดระแวง ไม่ไว้ใจประชาชน แต่ต้องการวัฒนธรรมการสื่อสารที่เป็นประชาธิปไตยซึ่งต้องอดทน และหวังว่าการสื่อสารจะมาแทนความรุนแรง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการใช้ความรุนแรงเข้ามาทางคลื่นวิทยุมากจนเกินเลย มีการใช้การสื่อสารเพื่อกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องสิทธิการสื่อสาร แต่ใช้ไปในทางที่เกิดโทษ สร้างความเสียหายและลดทอนความเชื่อมั่นในสถาบันสื่อ

เสนอจัดโครงการปั้นนักศึกษาช่าง เป็นช่างเทคนิคประจำวิทยุชุมชน

รศ. ดร.อุบลรัตน์ กล่าวต่อมาถึงข้อเสนอว่า ช่วงนี้เป็นช่วงการจัดสรรใหม่ เทคนิคเป็นเรื่องที่เป็นปัญหา และเป็นช่องทางที่คนบางกลุ่มหาประโยชน์ นอกจากคุณภาพรายการ คุณภาพเทคนิคเป็นที่เรื่องที่ต้องทำให้ได้รับการยอมรับ ต้องไม่เลื่อนคลื่นไปมา หรือฟุ้งกันไปฟุ้งกันมา ถ้าวิทยุชุมชนเป็นคลื่นหลักแล้ว ต้องป้องกันไม่ให้เกิดการรบกวนซึ่งกันและกัน กล่าวคือวิทยุชุมชนต้องมีที่ทางเป็นของตัวเอง ดังนั้นขอฝากให้คณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน นำพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เอาขึ้นมาจัดทำเป็นผังความถี่ให้เห็นร่วมกัน รวมถึงการจัดคลื่นความถี่ที่ชัดเจนให้กับบริการสาธารณะที่จำเป็น ยกตัวอย่างเช่น วิทยุรัฐสภา คลื่น 87.5 ซึ่งเป็นคลื่นของตัวแทนประชาชนไทยทั้งปวง แต่กลับตกคลื่น มีหลายพื้นที่ไม่สามารถรับฟังได้

โดย รศ.ดร.อุบลรัตน์ มีข้อเสนอ 3 ประเด็น ประเด็นที่ 1 ในเรื่องเทคนิค ควรต้องมีการตอบคำถามที่ว่าคลื่นความถี่ที่จะจัดสรรอยู่ตรงไหนกันแน่ ในแต่ละภาค แต่ละจังหวัด จะอยู่ในช่วงหัว-ท้ายของคลื่นความถี่ หรืออยู่ได้ทุกที่ และจะมีจำนวนเท่าไหร่ ส่วนประเด็นที่ 2 กระบวนการแจ้งความประสงค์จะทดลองออกอากาศล่วงหน้า มีปัญหาเรื่องสถานีกระดาษหรือสถานีจริงที่มีการออกอากาศจริงอย่างเป็นเรื่อง เป็นราว ตรงนี้ควรต้องตรวจสอบ ให้มีความชัดเจนอยู่ในระดับหนึ่ง

ประเด็น ที่ 3 จะทำอย่างไรให้เป็นการคุ้มครองสิทธิ ไม่ใช่การควบคุม และขอทีมสนับสนุน ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิค ทำให้การออกอากาศของประชาชนต่อเนื่อง แม่นยำ ถูกต้อง ไม่รบกวนคนอื่นและไม่รบกวนซึ่งกันและกัน เช่น จัดหาอาสาสมัครเป็นช่างประจำสำหรับวิทยุชุมชนสัก 2 แห่ง เช่น จากนักศึกษาเทคนิค ทำเป็นโครงการของบประมาณจาก กทช. มาช่วยจำนวนหนึ่ง อาสาสมัครตรงนี้ก็จะมาเป็นทางให้วิทยุชุมชนในอนาคต ทำให้วิทยุชุมชนออกอากาศได้อย่างต่อเนื่อง โดยที่เสียงไม่หายเมื่อฝนตก ฟ้าผ่าก็กลับมาดำเนินการได้ในเวลาไม่นานจนเกินไป

รศ.ดร.อุบลรัตน์ กล่าวด้วยว่า โดยรวมๆ ปัญหาทางเทคนิคเป็นปัญหาคับอกคับใจที่ยังแก้ไม่ได้ ซึ่งเรื่องเทคนิคเป็นเรื่องที่จะมาสนับสนุนซึ่งกันและกัน ซึ่งต้องแสวงหาเพิ่มเติม ต้องการสนับสนุน หนุนช่วยให้ดำเนินการได้จริง ทั้งเรื่องการบำรุงรักษา จนถึงเรื่องแผนความถี่ ตลอดจนแนวทางการปรับเปลี่ยนเป็นระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นแนวทางที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน แจงการทำงานที่ผ่านมา

พ. อ.ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ในคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของคณะ อนุกรรมการฯ ว่า มาจาก พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ซึ่งออกมาเพื่อแก้ปัญหาที่หมักหมม รวมถึงปัญหาของวิทยุชุมชนที่ระยะหลังเสมือนไร้ซึ่งทิศทาง เนื่องจากคลื่นความถี่กลายเป็นเหมือนที่ดินรกร้างว่างเปล่าที่คนพยายามเข้า มาจับจอง แสวงหาผลประโยชน์ ความสับสนที่เกิดขึ้นนำมาสู่การกำหนดให้มีการดูแลใน 2 เรื่อง คือวิทยุชุมชน และกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่โดยให้มีคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์ทำหน้าที่ร่วมกับกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)

ภาย หลังกฎหมายประกาศใช้ 6-7 เดือนจึงเกิดคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จำนวน 22 คน แบ่งเป็นคณะทำงาน 4 ด้าน โดยด้านที่สำคัญจะมี 2 ชุด คือ ชุดวิทยุชุมชนซึ่งผมทำหน้าที่เป็นประธาน และชุดกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่ ทั้งนี้ ส่วนตัวเข้ามาเป็นหนึ่งคณะอนุกรรมการฯ ชุดนี้ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสื่อสาร

พ.อ.ดร.นที กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาวิทยุชุมชนว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำเป็นอันดับแรกคือ การทำความเข้าใจในเรื่องวิทยุชุมชน ทั้งนี้ใน พ.ร.บ.การประกอบกิจการฯ แบ่งกิจการกระจายเสียงเป็น 3 ประเภทหลัก คือ กิจการบริการสาธารณะ กิจการบริการธุรกิจเอกชน กิจการบริการชุมชน แต่ปัญหาจากการสนับสนุนในช่วงที่ผ่านมาไม่มีกรอบที่ชัดเจน อักทั้งมีการอนุญาตให้โฆษณาได้ จึงเกิดวิทยุชุมชนเป็นจำนวนมาก และหลากหลายประเภทสับสนปนเปกันในปัจจุบัน มีวิทยุบริการชุมชนกึ่งสาธารณะ วิทยุธุรกิจที่อ้างเป็นชุมชน ชุมชนที่ทำธุรกิจ ฯลฯ

“ด้วยความที่ระยะ เวลามันยาวนาน และทุกคนต่างดำเนินการโดยที่ไม่มีกรอบที่ชัดเจน ทำให้คนเริ่มมีความรู้สึกว่าถ้าตนเองมีสถานีวิทยุสักสถานีหนึ่ง แล้วมีโอกาสแสวงหารายได้ เป็นผู้ประกอบการ SME หลังจากนั้นก็เกิดเป็นจำนวนเยอะ พอเกิดจำนวนเยอะแล้ว ทุกคนก็รู้สึกว่าที่ดินที่ตนเองเริ่มเพาะปลูกกลายเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองที่ ใครมาแย่งไม่ได้” พ.อ.ดร.นทีกล่าวอธิบายถึงกระบวนการของการเกิดวิทยุชุมชนที่ผ่านมา

อย่าง ไรก็การทำงานของคณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน คำนึงถึงสิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน เริ่มต้นด้วยการรับรองสิทธิของทุกคน ให้ทุกคนดำเนินการต่อไปได้ ภายใต้กรอบการกำกับดูแลเดียวกัน อันที่จริงเท่าที่รับทราบมา คนทำวิทยุชุมชนทุกคนต่างต้องการที่จะดำเนินการให้ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ที่ผ่านมานั้นไม่มีอะไรที่จะทำให้เขาถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีการปิด แต่จะเดินหน้าออกใบอนุญาตและจะทำให้คนที่ไม่ได้รับใบอนุญาตเข้าสู่การกำกับ ดูแล นอกจากนี้ยังคำนึงถึงการมีส่วนของภาคประชาชน

พ.อ.ดร.นทีกล่าว ต่อมาว่า หลังจากที่มีการรับฟังความเห็นเรื่องกรอบกำกับดูแลหลายเวที จนมาถึงเวทีประชาพิจารณ์ร่างหลักเกณฑ์วิทยุชุมชนที่โรงแรมรามาการ์เดน มีข้อเสนอให้ขึ้นทะเบียนสถานีวิทยุชุมชนที่ดำเนินการอยู่ทั้งหมด โดยให้แยกเป็นการขอรับใบอนุญาตชั่วคราว และการแจ้งความประสงค์จะทดลองออกอากาศ 300 วัน เพื่อให้ทุกคนมาแสดงตัวตนทำฐานข้อมูล

ในส่วนของการแจ้งความประสงค์จะ ทดลองออกอากาศ คณะทำงานหวั่นเกรงว่าจะเกิดความสับสนวุ่นวายเพราะสถานีที่มีความประสงค์จะ ทดลองออกอากาศมีจำนวนมาก จึงให้มีการแจ้งความประสงค์ล่วงหน้า 4 ภาค รามแล้วขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนจำนวน 4,050 สถานี คิดเป็น 90% ของจำนวนที่คาดว่าจะมีประมาณ 4,500 สถานี และจะพยายามรณรงค์เพิ่มอีกหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้ในช่วง 30 วัน โดยการประชาสัมพันธ์ในทุกช่องทาง รวมถึงวิทยุชุมชนด้วย ทั้งนี้ ร่างประกาศนี้จะเข้าสู่การพิจารณาของ กทช.อีกครั้งในวันที่ 15 ก.ค.52 และน่าจะประกาศใช้ในเดือน ก.ค.นี้

สำหรับ การให้ใบอนุญาตชั่วคราววิทยุชุมชนจะพิจารณาให้ใบอนุญาตเฉพาะวิทยุชุมชนที่ ดำเนินการอย่างเข้มข้นแท้จริง โดยสถานีที่ได้รับใบอนุญาตทางคณะทำงานได้เตรียมจัดงบสนับสนุน เพราะที่ผ่านมา สังคมละเลยคนที่ทำงานเพื่อสังคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานสำหรับองค์กรอิสระที่จะเข้ามาทำหน้าที่ต่อไป

ชี้มีใบอนุญาตเพื่อการคุ้มครองสิทธิประชาชน

พ. อ.ดร.นทีกล่าวด้วยว่า ในเรื่องการกำหนดให้มีใบอนุญาตนั้น ก็เพื่อให้มีคนที่จะมาดูแลคุ้มครองสิทธิของประชาชน โดยส่วนส่วนนี้ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงจำแนกได้เป็น 3 สถานะ คือ ก.กลุ่มที่ได้รับใบอนุญาต ข.กลุ่มที่ได้รับการคุ้มครองในการทดลองออกอากาศ 300 วัน และ ค.กลุ่มที่ไม่ได้รับใบอนุญาต ซึ่งสิทธิของแต่ละกลุ่มก็จะแตกต่างกัน แต่ก็เพื่อให้ทุกคนอยู่ได้ในเรื่องเทคนิค

อย่างไรก็ตาม การลงทะเบียนไม่ใช่จุดสิ้นสุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นในการแก้ปัญหา สิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปคือเรื่องการอบรมเรื่องการบริหารจัดการ เนื้อหารายการ จรรยาบรรณ โดยไม่ได้เน้นการพูดให้ชัดอย่างที่ผ่านมา

ใน ส่วนเทคนิค วันนี้ไม่มีการกำหนดกำลังส่งและความสูงเสาแล้ว และคณะทำงานไม่ได้กำหนดให้ต้องซื้อเครื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องของสถานีที่จะดำเนินการ โดยไม่ได้ยึดมาตรฐานไอทียู เพราะใช้กับประเทศไทยไม่ได้ แต่จะมีกระบวนการเพื่อป้องกันไม่ให้มีการรบกวนคลื่นความถี่ข่ายการสื่อสาร อื่น อีกทั้งไม่ได้เน้นการบังคับตามกฎหมาย แต่เน้นการเจรจา เช่น กวนครั้งแรก ตักเตือนเพื่อให้แก้ไข กวนครั้งที่สองระงับการออกอากาศ 7 วัน กวนครั้งที่ 3 ระงับการออกอากาศ 3 เดือน รวมถึงเน้นการไกล่เกลี่ย/ตกลงกันเองในกรณีการรบกวนกันเองในกลุ่มวิทยุชุมชน

พ. อ.ดร.นทีกล่าวต่อมาว่า กระบวนการหลังจากนี้จะเป็นเรื่องการพิจารณาให้ใบอนุญาต และเรื่องของการกำกับดูแล ซึ่งทางคณะทำงานกำลังคิดอยู่คือ การส่งเสริมให้เครือข่ายวิทยุชุมชนรวมตัวกันเองเป็นองค์กรเพื่อกำกับดูแลกัน เอง ในลักษณะเดียวกันกับสมาคมวิชาชีพ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์ ฯลฯ ทั้งนี้ การใช้คลื่นความถี่วิทยุชุมชน โดยหลักการต้องดำเนินการเพื่อประโยชน์สาธารณะ มีกรอบกติกา 2 ข้อ คือ ไม่หมิ่น ไม่สร้างความไม่สงบเรียบร้อยหรือขัดต่อศีลธรรมอันดี และต้องบันทึกรายการ

กระบวนการที่ผ่านมาเป็นกระบวนการกรองหยาบ เพื่อนำไปสู่การกรองละเอียดในขั้นต่อไป อันได้แก่การตรวจสอบเป็นเรื่องที่ต้องเกิดขึ้น สถานีกระดาษจะเข้าข่ายเอกสารเท็จ ซึ่งมีความผิดตามกฎหมาย นอกจาก
นี้ การประกาศในราชกิจจานุเบกษา น่าจะภายใน 20-25 ก.ค.นี้

สหพันธ์วิทยุชุมชนฯ ตั้งคำถาม หลักเกณฑ์ที่กำลังจะเกิดมีเพื่อคุ้มครองใคร

ด้าน นายวีระพล เจริญธรรม ผู้ประสานงานสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติกล่าวว่า สถานการณ์การเปิดให้แจ้งความประสงค์ทดลองออกอากาศ นำไปสู่ปัญหาว่ามีคนไปขึ้นทะเบียน และบางคนไปขอมากกว่า 1 สถานี บางคนถือโอกาสไปจองคลื่นโดยยังไม่มีการการดำเนินการจริง นำมาสู่คำถามว่า หลักเกณฑ์ที่กำลังจะเกิดขึ้น มีขึ้นเพื่อคุ้มครองใครกันแน่ ระหว่างวิทยุชุมชนที่ดำเนินการตามหลักการและผู้ดำเนินการวิทยุชุมชนในรูปแบบ อื่นๆ รวมทั้งคำถามถึงแนวทางการแก้ไขปัญหากวนคลื่นความถี่วิทยุชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาถูกรบกวนความถี่จากวิทยุธุรกิจ

สิ่งที่วันนี้เครือข่าย ภาคประชาชนกำลังทำคือ การเตรียมความพร้อมวิทยุชุมชนโดยเฉพาะด้านเทคนิค เพื่อให้ดำเนินการได้โดยไม่รบกวนข่ายการสื่อสารอื่น เตรียมความพร้อมชุมชนในเรื่องการยื่นขออนุญาต โดยยื่นขอพร้อมกันทั้งหมด ตลอดจนเตรียมการแนวทางปฏิบัติวิทยุชุมชน และการกำกับดูแลการดำเนินการวิทยุชุมชนที่มีตัวแทนของเครือข่ายวิทยุชุมชน เข้าไปมีส่วนร่วมด้วย

ส่วน น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ (คปส.) กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาร่าง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่รัฐสภา ในวันพฤหัสบดีที่จะถึงนี้ จะมีการพิจารณานำเรื่องสัดส่วน 20% ของวิทยุชุมชนเข้าสู่แผนแม่บท ซึ่งขอให้ช่วยกันติดตามและอย่าเพิ่งนอนใจในประเด็นนี้
-----------
ที่มา : เวปไซต์ประชาไทย